โรคไขข้อ ดูแลและป้องกันได้หากรู้เท่าทัน

โรคไขข้อ เป็นอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับข้อและกระดูก ซึ่งในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งตัวเลขอันน่าตกใจว่าคนไทยเป็นโรคข้อเสื่อมและโรคกระดูกพรุนมากถึง 7 ล้านคน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปรวมทั้งผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน

โรคไขข้อ - arthritis - สุขภาพ

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคไขข้อ

1.อายุ

ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้ความสามารถของกระดูกอ่อนในการซ่อมแซมตัวเองลดลง จึงเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไขข้ออย่างหนึ่ง

2.เพศ

ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป จะมีแนวโน้มการเจ็บป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชายที่อายุเท่ากัน

3.พันธุกรรม

ผู้ที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดที่ส่งผลให้เข่าหรือขามีลักษณะผิดรูป

4.น้ำหนักตัว

ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือมีค่า BMI มากกว่า 23 จะมีความเสี่ยงเป็นโรคไขข้อได้มาก เนื่องจากต้องรองรับน้ำหนักตัวนั่นเอง

5.ได้รับบาดเจ็บ

ผู้ที่เคยมีประวัติการบาดเจ็บเกี่ยวกับข้อหรือกระดูก จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดข้อเข่าเสื่อมค่อนข้างสูง เพราะแม้ว่าร่างกายจะสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ แต่โครงสร้างก็ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม หรือเกิดจากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกวิธี

6.การใช้งาน

พฤติกรรมหรือท่าทางที่ต้องใช้ข้อเข่าอย่างหักโหมหรืองอเข่ามากเป็นประจำ ทำให้ต้องรองรับแรงกดจากน้ำหนักตัวมากกว่าปกติเป็นเวลานานๆ จึงก่อให้เกิดโรคไขข้อหรือภาวะข้อเสื่อม

 

อาการของโรคไขข้อ

ช่วงระยะแรกๆ ของโรคไขข้อมักจะมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ แต่เมื่อไม่ได้รับการรักษาก็จะเป็นมากขึ้น ตั้งแต่อาการปวดเมื่อยที่น่องและข้อพับเข่า ข้อขัด ข้อฝืดจนไม่สามารถเหยียดหรืองอเข่าได้สุด ได้ยินเสียงในข้อจากการเสียดสีของผิวข้อที่ไม่เรียบ ข้อเข่าบวมจากการอักเสบจนทำให้มีน้ำไขข้อมากขึ้น หรือมีก้อนถุงน้ำในข้อพับเข่าด้วยสาเหตุที่เยื่อบุข้อเข่าแตกออก

 

วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคไขข้อ

นายแพทย์สิทธิพร อรพินท์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ได้แนะนำว่าหากเรารู้จักดูแลร่างกายเป็นอย่างดี จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคไขข้อได้ไม่ยากเลย ด้วย 4 วิธีดังต่อไปนี้

1.ควบคุมน้ำหนัก

คุมน้ำหนัก-โรคไขข้อ

ควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติและเป็นการลดภาระต่อข้อต่างๆ โดยเฉพาะหลัง สะโพก และข้อเข่าที่รองรับน้ำหนักตัวเป็นหลัก

 

2.เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ

นั่ง-โรคไขข้อ

หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ นั่งกับพื้น นั่งหรือยืนผิดท่า รวมทั้งการขึ้นบันไดเป็นประจำหรือแม้แต่การนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ แต่ให้เปลี่ยนอิริยาบถด้วยการยืดเส้นยืดสายและเดินไปมา

3.เสริมสร้างกล้ามเนื้อ

ออกกำลังกาย-โรคไขข้อ

เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันโรคไขข้อได้ เพราะกล้ามเนื้อมีความสำคัญต่อการแบ่งเบาภาระของข้อต่อ เวลาที่ร่างกายต้องเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อท้องและกล้ามเนื้อหลังจะช่วยให้หมอนรองกระดูกสันหลังรับภาระน้อยลง

4.อาหารและยา

ยา-โรคไขข้อ

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด เนื่องจากอาจมีผลต่อข้อและกระดูกโดยตรง ส่วนอาหารที่หารับประทานได้ง่าย อีกทั้งมีสรรพคุณช่วยบำรุงข้อและกระดูกคือ “พริกไทยและงาดำ” ซึ่งอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูกหรือกระดูกอ่อนได้ดี

 

โรคไขข้อเป็นภาวะความเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยและรักษาให้หายขาดค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นการดูแลข้อและกระดูกให้อยู่ในสภาพปกติจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตกับสุขภาพที่ดีในอนาคตอย่างยาวนาน

 

เอกสารอ้างอิง

  1. โรงพยาบาลเปาโล. 7 ปัจจัยเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม paolohospital.com
  2. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. “อยู่อย่างไรให้พ้นภัยข้อเสื่อม” bumrungrad.com
  3. แนวทางเกษตร – เกร็ดความรู้. 9 สมุนไพร ชะลอกระดูกข้อเสื่อม บำรุงกระดูก kaset-lifestyle.com

อ่านเพิ่มเติม… พริกป่น พิชิตโรคร้ายและความอ้วน

[yasr_visitor_votes size=”medium”]