เครื่องเทศ

8 เครื่องเทศแห้งยอดนิยมในครัวไทย

ครัวไทยเป็นเรื่องราวของอาหารการกินที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน โดยมี เครื่องเทศ เป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่ได้รับอิทธิพลจากชาวอินเดีย ซึ่งอพยพโยกย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทย แต่สำหรับเครื่องเทศที่นำมาใช้ในการปรุงอาหารไทยจะแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือเครื่องเทศสดที่ให้น้ำมันหอมระเหยขณะกำลังสด และเครื่องเทศแห้งที่จะให้น้ำมันหอมระเหยเมื่อแห้ง

ถ้าเรานำเครื่องเทศแห้งไปคั่วหรือผ่านความร้อน จะยิ่งกระตุ้นส่งกลิ่นหอมออกมามากขึ้น บางชนิดก็มีฤทธิ์ทางยาเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ดังนั้นเราจะมาทำความรู้จักกับเครื่องเทศแห้งที่นิยมใช้ในครัวไทยกัน

     1. ลูกผักชี

เม็ดผักชี - เครื่องเทศ - สมุนไพร - Coriander Seed

มีลักษณะเป็นลูกกลมๆ ขนาดเล็ก สีขาวหม่น เมื่อนำมาตากแห้งจะส่งกลิ่นหอม หากจะนำเครื่องเทศชนิดนี้ไปประกอบอาหาร จะต้องคั่วแล้วโขลกขณะที่ยังร้อนๆ ให้ละเอียด นิยมใช้คู่กับเมล็ดยี่หร่า เหมาะสำหรับเป็นเครื่องแกงของพะแนง แกงเผ็ด และแกงเขียวหวาน เป็นต้น

     2. ยี่หร่า

ยี่หร่า - เครื่องเทศ - สมุนไพร

หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “เทียนขาว” เป็นเครื่องเทศที่มีลักษณะผลทรงรียาวและแบน สีเหลืองอมน้ำตาล ให้กลิ่นหอมแรงและรสเผ็ดร้อนกับขม เมื่อจะนำมาปรุงอาหารต้องบุบเสียก่อน นิยมใช้คู่กับลูกผักชีเพื่อหมักเนื้อสัตว์ดับกลิ่นคาว ถ้านำไปคั่วไฟอ่อนๆ แล้วป่นละเอียด จะใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องแกงหรือแต่งกลิ่นอาหารประเภทเค้กและขนมปัง

     3. กานพลู

กานพลู - เครื่องเทศ - สมุนไพร

ส่วนที่นำมาใช้เป็นเครื่องเทศคือดอกตูมที่มีสีน้ำตาลเข้ม ให้กลิ่นหอมและรสเผ็ดร้อน ก่อนจะนำไปปรุงอาหารจะต้องแกะเอาเกสรออกแล้วจึงค่อยคั่ว แล้วค่อยนำทั้งดอกใส่ในต้มเนื้อ แต่ถ้าใช้กับพริกแกงให้นำไปป่นละเอียด

     4. อบเชย

อบเชย - เครื่องเทศ - สมุนไพร

เปลือกของต้นอบเชยมีสีน้ำตาลปนแดง ให้กลิ่นหอมนุ่มนวลและมีรสขมหวานฝาด ก่อนนำมาใช้เป็นเครื่องเทศจะต้องคั่วไฟหรือเผา โดยอาจจะใช้ทั้งชิ้นหรือป่นละเอียดเพื่อผสมในเครื่องแกงสำหรับดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์

     5. ลูกกระวาน

ลูกกระวาน - ลูกกระวานป่น - เครื่องเทศ - สมุนไพร

นิยมใช้กันมากทั้งในด้านการแพทย์และการครัว มีลักษณะเป็นลูกขนาดเล็กทรงกลมรี เปลือกสีขาวไม่แข็ง ด้านในมีเม็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก ให้กลิ่นหอมฉุนและรสเผ็ดปร่ากับรสขมปนหวาน เมื่อจะนำมาใช้ต้องคั่วไฟก่อนแล้วบีบเปลือกให้แตก โดยใช้แต่เม็ดในแล้วไม่ต้องโขลกให้ละเอียด มักจะใช้เป็นเครื่องเทศในน้ำพริกแกงต่างๆ และแต่งสีหรือแต่งกลิ่นของอาหารอีกหลายชนิด

     6. พริกไทย

พริกป่นหยาบ - พริกป่น - เครื่องเทศ - สมุนไพร

ถ้าเป็นผลแก่ที่ตกแห้งทั้งเปลือกจะเรียกว่าพริกไทยดำ แต่พอล่อนเปลือกออกจะเรียกว่าพริกไทยขาว ให้กลิ่นหอมฉุนและรสเผ็ดร้อน เป็นเครื่องเทศที่นิยมปลูกกันมากในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งขึ้นชื่อถึงคุณภาพและความหอมอร่อย โดยใช้ทั้งเมล็ดหรือป่นละเอียดเพื่อนำไปดับกลิ่นคาวและแต่งกลิ่นอาหาร รวมทั้งเป็นส่วนประกอบของน้ำพริกแกงต่างๆ

     7. พริกแห้ง

พริกจินดาอินเดีย - เครื่องเทศ

ผลสุกตากแห้งมีสีแดงปนน้ำตาล ให้กลิ่นฉุนและรสเผ็ดร้อน นิยมใช้แต่งสีสันของหน้าตาอาหารให้ดูสวยงาม เป็นเครื่องเทศที่นิยมใช้ทำน้ำพริกแกงเผ็ด แกงส้ม แกงคั่ว ฉู่ฉี่ และพะแนง เนื่องจากให้สีสวยและรสไม่เผ็ดมาก

     8. โป๊ยกั๊ก

โป๊ยกั๊ก - เครื่องเทศ - สมุนไพร - star anise

เป็นเครื่องเทศที่มาจากจีน ใช้ส่วนที่เป็นผลแก่ตากแห้ง มีลักษณะเป็นรูปดาว 8 แฉก สีน้ำตาลอมแดง ให้กลิ่นหอมอ่อนๆ และรสเผ็ดหวาน ก่อนนำไปใช้ควรเผาไฟแล้วจากนั้นจึงนำไปต้ม ตุ๋น หรืออบอาหารให้มีกลิ่นหอม และยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของการต้มพะโล้หรือใส่ในลาบของทางภาคเหนือ

นอกจากเครื่องเทศที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง 8 ชนิดนี้แล้ว ยังมีชนิดอื่นๆ ที่นิยมใช้ในครัวไทยอย่างน่าสนใจอีกหลายชนิด ซึ่งนำไปเป็นส่วนประกอบในการรังสรรค์เมนูอาหารไทย ช่วยให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ารับประทานและรสชาติดี เรียกว่าเป็นมนต์เสน่ห์ของอาหารไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน

 

เอกสารอ้างอิง

  1. วิชาการดอทคอม. “เครื่องเทศครัวไทย อาหารใช้เป็นยา” www.vcharkarn.com
  2. หนังสือผัก – สมุนไพรไทยใกล้ตัว เขียนโดย โชติอนันต์ และกสุ่มสมุนไพรไทย

สอบถามเพิ่มเติม ผึ้งหลวง

เพิ่มเพื่อน

อ่านต่อ… ชวงเจีย (พริกหอม) เผ็ดร้อนแบบจีน

อ่านต่อ… กระเทียมผง สู่รสชาติจานอร่อย

[yasr_visitor_votes size=”medium”]