แก้ปวดท้อง ด้วยเทียนข้าวเปลือก
อีกทางเลือกของการา แก้ปวดท้อง โดยเทียนข้าวเปลือก ซึ่งเป็นเครื่องเทศจีนที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกันกับผักชีของไทย โดยในภาษาจีนจะเรียกว่า “วุ่ยฉึง” และยังมีขนาดลำต้นใหญ่กว่า ตัวเมล็ดของต้นเทียนข้าวเปลือกมีลักษณะเป็นเม็ดเรียวยาวคล้ายกับเมล็ดข้าวเปลือกนั่นเอง จึงทำให้เป็นที่มาของชื่อเครื่องเทศชนิดนี้
เทียนข้าวเปลือกใช้ทำอะไรได้บ้าง
ผู้คนมักจะนำเมล็ดเทียนข้าวเปลือกมาใช้เป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหารและทำยาสมุนไพร เนื่องจากมีรสหวานและเผ็ดร้อน สำหรับชาวล้านนาจะใช้ทำน้ำพริกลาบ ส่วนต้นนั้นมีกลิ่นหอมแรงจึงเหมาะแก่การใช้แต่งกลิ่นอาหารประเภทเนื้อ ซุป ทำซอส ขนมปัง และยังใช้แต่งกลิ่นผักดองได้อีกด้วย หรือจะรับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก อาหารเมนูยำ หรือลาบเนื้อสัตว์ก็ได้เช่นกัน
เทียนข้าวเปลือกกับตำรับยาไทย
เมล็ดเทียนข้าวเปลือกมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยจำนวนมากและให้ฤทธิ์อุ่น จึงเหมาะแก่การใช้เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ชีพจรอ่อนหรือพิการ ช่วยแก้ไอ ละลายเสมหะและขับเสมหะ ขับลม บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย ขับปัสสาวะ ทำให้เจริญอาหาร แก้เส้นศูนย์กลางท้องพิการ และแก้นอนสะดุ้ง
วิธีใช้เทียนข้าวเปลือกเป็นยาสมุนไพร
1.แก้ไส้เลื่อน
นำเมล็ดเทียนข้าวเปลือกปริมาณ 20 กรัม ชงน้ำแล้วดื่มทุก 15 – 30 นาที และนอนราบแบบตั้งชันเข่า หรือนำเมล็ดเทียนข้าวเปลือกผสมกับเมล็ดลิ้นจี่ในปริมาณอย่างละเท่าๆ กัน จากนั้นคั่วแล้วบดให้เป็นผง โดยใช้ปริมาณ 10 กรัม ผสมกับเหล้าแล้วดื่มเพื่อช่วยบรรเทาอาการไส้เลื่อน
2.แก้อ่อนเพลีย
คั่วเมล็ดเทียนข้าวเปลือกกับไตหมูแล้วรับประทาน จะเป็นยาบำรุงกำลังแก้อาการอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง หรือปวดหลัง สำหรับผู้ที่ทำงานหนักหรือใช้แรงมากๆ
3.แก้ปวดท้อง
ใช้เมล็ดเทียนข้าวเปลือกปรุงอาหารควบคู่กับเนื้อปลาและขิง จะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้เป็นอย่างดี
สรรพคุณของเทียนข้าวเปลือกในด้านการแพทย์
1.คนปกติทั่วไป
เมื่อดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยจากเทียนข้าวเปลือก จะช่วยกระตุ้นระบบอัตโนมัติที่เรียกว่า sympathetic ให้ทำงานได้ดี
2.ผู้ป่วยท้องเสีย
การรับประทานยาตามตำรับที่มีส่วนประกอบของเทียนข้าวเปลือก สามารถช่วยลดอาการท้องเสียได้
3.เด็กทารกปวดท้อง
การใช้ยาสมุนไพรตามสูตรตำรับที่มีเทียนข้าวเปลือก หรือให้น้ำมันหอมระเหยเทียนข้าวเปลือกที่อยู่ในรูปแบบอิมัลชัน จะช่วยให้อาการปวดท้องของทารกนั้นดีขึ้น แต่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากอาจเป็นอันตรายแก่เด็กทารกได้
4.แก้ปวดประจำเดือน
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดประจำเดือนปานกลางถึงขั้นรุนแรง หากรับประทานน้ำมันหอมระเหยของเทียนข้าวเปลือกในปริมาณ 25 หยด เป็นเวลาทุก 4 ชั่วโมง จะช่วยบรรเทาอาการปวดให้ทุเลาลงได้ แต่ถ้าเป็นสารสกัดเทียนข้าวเปลือกจะช่วยแก้ปวดได้เทียบเท่ายา mefenamic acid เลยทีเดียว
ถึงแม้ว่าเครื่องเทศหลายๆ ชนิดที่ใช้ปรุงอาหาร จะมีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพรเพื่อใช้รักษาโรคได้ แต่ก็มีข้อจำกัดหรือควรระวังการใช้ด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มคนที่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเทียนข้าวเปลือก ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีไข้สูง ผู้ชายที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ สตรีมีครรภ์ การใช้ในเด็กหรือทารกอย่างปราศจากความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง และผู้ที่มีอาการแพ้เทียนข้าวเปลือก ซึ่งอาจมีผลต่อผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ หรือทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
เอกสารอ้างอิง
- Medthai. “เทียนข้าวเปลือก สรรพคุณและประโยชน์เทียนข้าวเปลือก 26 ข้อ” medthai.com
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เทียนข้าวเปลือก” thaicrudedrug.com
- เกร็ดความรู้.net. “เทียนข้าวเปลือก ประโยชน์และสรรพคุณของเทียนข้าวเปลือก หรือวุ่ยฉึง” เกร็ดความรู้.net
- ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “อาหารพื้นบ้านล้านนา : เทียนข้าวเปลือก” http://library.cmu.ac.th
อ่านเพิ่มเติม… การเก็บเครื่องเทศ
[yasr_visitor_votes size=”medium”]